วันวิสาขบูชา เหตุใดจึงเป็นวันสำคัญสากลของโลก
วันวิสาขบูชา Vesak Day วันสำคัญสากลของโลก
วันวิสาขบูชา องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญสากลของโลก โดยเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2542 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 54 ได้พิจารณาระเบียบวาระที่ 174 International recognition of the Day of Visak ระบุว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดศาสนาหนึ่งของโลก ที่ได้หล่อหลอมจิตวิญญาณของมนุษยชาติมานาน ควรที่จะยกย่องกันทั่วโลก จึงประกาศให้วันวิสาขบูชา ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนพฤษภาคม เป็นวันสำคัญสากลนานาชาติ (International Day)
สหประชาชาติตั้งวันวิสาขบูชา Vesak Day เป็นวันสำคัญสากลของโลก
โดยการเสนอของประเทศศรีลังกา และมีมติเป็นเอกฉันท์ในที่ประชุมสมัชชาครั้งนี้ โดยให้เหตุผลว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวลมนุษย์ เปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพระพุทธศาสนา เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทรงสั่งสอนทุกคนโดยไม่คิดค่าตอบแทน ในการพิจารณาประธานสมัชชาฯ ครั้งนั้นได้เชิญผู้แทนจากประเทศศรีลังกาขึ้นกล่าวนำเสนอร่างข้อมติ และเชิญผู้แทนไทย พม่า สิงคโปร์ บังคลาเทศ ภูฐาน เนปาล ปากีสถาน อินเดีย สเปนขึ้นกล่าวถ้อยแถลง สรุปความได้ว่า วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของพุทธศาสนิกชนทั่วโลก เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ให้มวลมนุษย์มีเมตตาธรรมและขันติธรรมต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย เพื่อให้เกิดสันติสุขในสังคม อันเป็นแนวทางของสหประชาชาติ จึงขอให้ที่ประชุมรับรองข้อมตินี้ ซึ่งเท่ากับเป็นการรับรองความสำคัญของพุทธศาสนาในองค์การสหประชาชาติอีกด้วย
วันวิสาขบูชาหรือ Vesak Day เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
วันวิสาขชบูชาคำว่า “วิสาขะ”นั้น เป็นภาษาบาลีแปลว่า เดือน 6 ส่วนในภาษาสันสกฤตเรียกว่า “ ไวศาขะ” พระพุทธศาสนาในประเทศไทยเรียกเป็นภาษาบาลีว่า วิสาขะ วิสาขบูชาคือการบูชาในเดือน 6 ศรีลังกาเรียกว่า วีสัค หรือ เวสัค (Vesak) จนกลายเป็นชื่อภาษาอังกฤษติดปากว่า Vesak หรือ Vesak Day อีกทั้งองค์การสหประชาติประกาศยอมรับวันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก โดยใช้คำแทนวันวิสาขบูชาว่า Vesak ตามชาวศรีลังกา
จุดวิสาขประทีปเพื่อทำการเวียนเทียนในวันวิสาขบูชา Vesak Day
ในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ แถบเอเชียอาคเนย์จะจัดฉลองในวันวิสาขบูชาหรือวันเพ็ญกลางเดือน 6 คือ เดือนวิสาขะ แต่ในประเทศอื่นที่เป็นนิกายมหายาน เช่น ญี่ปุ่น จะไม่ฉลองวันวิสาขบูชาในเดือน 6 เพราะวันวิสาขบูชาของนิกายมหายานตรงกับวันเพ็ญกลางเดือน 8 ประเทศญี่ปุ่นกำหนดวันวิสาขบูชาตรงกับวันที่ 8 เมษายนของทุกปีปฏิทินสุริยคติ บางนิกายในบางประเทศไม่ได้กำหนดวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้าในวันเดียวกัน ประเทศที่นับถือมหายานถือว่าพระพุทธเจ้าประสูติวันหนึ่ง ตรัสรู้วันหนึ่ง และปรินิพพานอีกวันหนึ่ง เช่นประสูติวันที่ 8 เมษายน ตรัสรู้วันที่ 8ธันวาคม และปรินิพพานวันที่ 15 กุมภาพันธ์ เราจึงเห็นได้ว่าในประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนามหายาน จะถือเอาวันสำคัญที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้าแตกต่างกันออกไป
พิธีเวียนเทียนรอบมหาธรรมกายเจดีย์ ในวันวิสาขบูชา ณ วัดพระธรรมกาย
การที่องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดวันวิสาขบูชาตรงกับวันเพ็ญกลางเดือน 6 จึงเป็นการกำหนดตามแบบพระพุทธศาสนาเถรวาท และในภาษาของสหประชาชาติจึงไม่เรียกวันเพ็ญกลางเดือน 6 เพราะเดือน 6 เป็นจันทรคติ สหประชาชาติ ใช้คำว่า วันเพ็ญเดือนพฤษภาคม ดังนั้น ถ้าวันเพ็ญกลางเดือนตรงกับวันใดในเดือนพฤษภาคม สหประชาชาติถือว่าวันนั้นเป็นวันวิสาขบูชา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น