วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ธุดงค์ธรรมชัย ฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ธรรม


ชี้แจงกรณีธุดงค์ธรรมชัย
ธุดงค์ธรรมชัยถูกต้องดีงามตามพระธรรมวินัย
จากวัตถุประสงค์โครงการธุดงค์ธรรมชัยที่ได้ตั้งไว้ เพื่อฉลองพุทธชยันตี 2,600  ปี แห่งการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อัญเชิญรูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนีไปประดิษฐาน ณ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ สร้างความเป็นสิริมงคลแก่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ เพื่อปลูกฝังศีลธรรมแก่ประชาชน 
(สามารถดูเพิ่มเติมจาก dmycenter.com)
วัตถุประสงค์โครงการ
  • เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
  • ฟื้นฟูจิตใจ สร้างบุญใหญ่ให้แผ่นดิน ปลุกกระแสศีลธรรม สร้างขวัญกำลังใจ และความเป็นสิริมงคลให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ
  • ฟื้นฟูวัฒนธรรมชาวพุทธที่ดีงามกลับคืนสู่สังคมไทย ให้สมกับที่นานาประเทศเลือกประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโลก
  • ส่งเสริมสถาบันครอบครัว ให้พ่อ แม่ ลูก มีกิจกรรมที่สร้างความอบอุ่น โดยมาทำบุญใหญ่ร่วมกัน ปลูกฝังศีลธรรมให้กับเยาวชน และประชาชนทั่วไป
ธุดงค์ธรรมชัยอัญเชิญหลวงปู่ทองคำในวันที่ 2-6 เมษายน พ.ศ.2555 ที่่ผ่านมานั้น เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตามที่คณะผู้จัดได้ตั้งไว้ เพื่อฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ธรรม ปลูกฝังศีลธรรม
สมาทานธุดงควัตรและบำเพ็ญสมณธรรม
พระธุดงค์ธรรมชัยจำนวน 1,500 รูป ทุกรูปตั้งใจออกบวชเพื่อกำจัดขัดเกลากิเลสอาสวะออกจากใจ อุปสมบทถูกต้องตามพระธรรมวินัย บำเพ็ญสมณธรรมอย่างต่อเนื่องตลอดตั้งแต่วันแรกที่ตนได้บวชมา จึงชื่อว่าเป็นพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า เป็นผู้ทรงจำคำสอนของพระพุทธองค์ เป็นบุคคลที่ควรแก่การบูชา
ในการเดินธุดงค์ธรรมชัยนั้นพระธุดงค์ได้สมาทานธุดงควัตร 2 ข้อ คือ เอกาสนิกังคะ - สมาทานองค์แห่งผู้ถือนั่งฉัน ณ อาสนะเดียว และ ยถาสันถติกังคะ - สมาทานองค์แห่งผู้ถืออยู่ในเสนาสนะแล้วแต่ที่เขาจัดให้ และในการเดินธุดงค์ท่านได้บำเพ็ญสมณธรรมคือการเดินโดยสำรวม "มองกลาง มองทาง" มองกลาง คือ มองไปที่จิตของตนเองเพื่อเจริญสติทำสมาธิ เรียกได้ว่าเป็นการเดินจงกรม แม้มีศรัทธาสาธุชนมาคอยต้อนรับสองข้างทางมากมาย พระธุดงค์ทุกรูปก็ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรมโดยตลอด โดยการเจริญอนุสติระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า เรียกว่า พุทธานุสติ พระธุดงค์บางรูปเมื่อนึกถึงพระพุทธเจ้าแล้วก็ระลึกต่อไปถึงธรรมะที่พุทธองค์ทรงเทศนาไว้ ก็ชื่อว่า เจริญธรรมานุสติ บางรูปนึกถึงคุณของพระมงคลเทพมุนีที่ท่านกำลังอัญเชิญไปวัดปากน้ำอยู่นั้น ก็ชื่อว่าเป็น สังฆานุสติ การเจริญสมณธรรมของพระภิกษุที่เดินธุดงค์ธรรมชัยทุกรูปนี้จึงชื่อว่า ขัดเกลากิเลสให้เบาบางลง
พระธุดงค์แต่ละรูปบางรูปบวชมามากกว่า 20 พรรษา บางรูปแม้เพิ่งบวชในโครงการอุปสมบทหมู่ 1 แสนรูปทุกหมู่บ้านฯ รวมถึง 1,500 รูป แต่ละรูปก็ตั้งใจรักษาศีลเจริญสมาธิภาวนามาโดยตลอดเวลาที่ท่านบวชอยู่ และท่านได้มาถือธุดงควัตรได้ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรม ปฏิบัติตนถูกต้องตามพระธรรมวินัย บุญกุศลที่เกิดขึ้นนี้พระธุดงค์น้อมถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อฉลองพุทธชยันตี 2,600  ปีแห่งการตรัสรู้ธรรม
กิจกรรมปลูกฝังศีลธรรม เจริญพุทธมนต์เฉลิมฉลองพุทธชยันตี
พระธุดงค์จำนวน 1,500 รูป ท่านได้เดินจาริกบนเส้นทางอัญเชิญหลวงปู่ทองคำ จากวัดพระธรรมกายไปยังวัดปากน้ำภาษีเจริญ ทำให้สาธุชนชาวบ้านหลายหมื่นคนได้มีโอกาสต้อนรับพระธุดงค์ตลอดเส้นทาง  และในทุกๆ ที่ที่พระธุดงค์ไปพักค้าง จะมีชาวพุทธหลายพันคน บ้างก็มาคนเดียว บ้างก็มาเป็นครอบคร้ว บ้างชักชวนเพื่อนบ้านหมู่ญาติให้มาอุปัฏฐากบำเพ็ญบุญกุศลกับพระธุดงค์  
พระธุดงค์ยังได้ทำกิจวัตรของพระภิกษุคือการสวดมนต์ทำวัตรเย็น ทำให้สาธุชนที่คอยมาอุปัฏฐากได้สวดมนต์รักษาศีลกันมากมาย และที่พักค้างของพระธุดงค์ได้มีกิจกรรมสร้างบุญกุศลอีกมากมาย อาทิเช่น 
1.ถวายภัตตาหารเป็นสังฆทาน ในทุกๆ เช้า ณ ที่พักค้าง มีกิจกรรมถวายภัตตาหารเป็นสังฆทานแก่พระธุดงค์ 1,500 รูป ทำให้สาธุชนหลายหมื่นได้สมาทานศีล 5 ทำใจให้สงบเจริญสมาธิภาวนา แผ่เมตตาให้กับหมู่ญาติที่ล่วงลับและสรรพสัตว์ทั้งหลาย รับพรอันเป็นสิริมงคลจากพระธุดงค์
2.จุดโคมประทีป ที่พักค้างสนามกีฬาเทพหัสดินได้มีกิจกรรมจุดโคมประทีปมากกว่า 3,000 ดวงและจุดพลุถวายเป็นพุทธบูชา สาธุชนได้มาสมาทานศีลนั่งสมาธิระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเนื่องในวาระครบรอบการตรัสรู้ธรรมพุทธชยันตี 2,600 ปี

ภาพการจุดโคมประทีปและพลุถวายเป็นพุทธบูชา ฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปีฯ
3.เจริญพุทธมนต์ ณ ที่พักค้างโรงเรียนสารวิทยา และโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย พระธุดงค์ 1,500 รูปเจริญพุทธมนต์ สาธุชนได้ฟังพุทธมนต์ ซึ่งถือเป็นการปัดเป่าสิ่งเลวร้ายให้สลายสูญไป สร้างสิริมงคลต่อตัว
จะเห็นได้ว่ากิจกรรมในโครงการธุดงค์ธรรมชัยทั้งหมดนี้เป็นการปลูกฝังศีลธรรม สร้างขวัญกำลังใจให้แก่ประชาชน ส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้ได้มีโอกาสมาทำบุญร่วมกัน  เพิ่มความเป็นสิริมงคลให้แก่ประเทศ และเป็นการฉลองพุทธชยันตีครบรอบ 2,600 ปีแห่งการตรัสรู้ธรรมอย่างแท้จริง
การตอนรับพระธุดงค์
โปรยกุหลาบบูชาบุคคลผู้ควรบูชา
พระธุดงค์ธรรมชัยท่านสมาทานธุดงค์วัตรและบำเพ็ญสมณธรรมจัดว่าเป็นภิกษุผู้มีศีลตั้งใจขัดเกลากิเลสให้เบาบาง การได้โปรยดอกไม้ของหอมต้อนรับบูชาพระธุดงค์นี้จึงจัดเป็นหนึ่งในมงคล 38 ประการ คือ บูชาบุคคลผู้ควรบูชา 



ชาวกรุงเทพฯ จำนวนมากออกมาต้อนรับพระธุดงค์ด้วยศรัทธา
ดอกกุหลาบเป็นดอกไม้ที่แสดงถึงความรัก การที่ชาวพุทธโปรยดอกกุหลาบต้อนรับพระธุดงค์นั้นเป็นการแสดงความรักในพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ทางคณะจัดงานจึงได้เลือกดอกกุหลาบเพื่อโปรยเป็นเส้นทางสำหรับต้อนรับพระธุดงค์ โดยตั้งใจว่าจะโปรยตลอดทุกย่างก้าวที่พระธุดงค์ท่านเดินจาริกไป เป็นการบูชาพระสงฆ์ผู้ทรงคุณธรรมอย่างยากที่จะหาใครทำตามได้ โดยได้เชิญชวนประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านจัดเตรียมดอกกุหลาบเพื่อมาต้อนรับพระธุดงค์ 
เมื่อพระธุดงค์เดินจาริกไปตามเส้นทาง ชาวกรุงในระแวกก็ต่างออกมาต้อนร้บพระธุดงค์เป็นอันมาก ชาวกรุงบางคนทราบว่าจะมีพระเดินผ่านหน้าบ้าน ก็ได้จัดเตรียมกลีบดอกกุหลาบ น้ำเย็น ผ้าเย็น ลูกอมชุ่มคอ เพื่อมาต้อนรับพระธุดงค์ บางคนตระเตรียมสิ่งของไม่ทันก็รีบไปซื้อดอกกุหลาบสดๆ จากในตลาดเพื่อมาเด็ดกลีบกุหลาบโปรยต้อนรับพระธุดงค์ บางท่านพอจะหยิบฉวยอะไรเพื่อมาเอาบุญกับพระธุดงค์ได้ก็หยิบมา เช่น กระดาษทิชชู่ น้ำขวด ฯลฯ ผู้มีศรัทธามีอยู่มากแต่ทราบข่าวไม่ทั่วถึงและเตรียมตัวไม่ทันก็มีเป็นจำนวนไม่น้อย
ชาวกรุงเทพฯเกิดศรัทธาจึงเตรียมสิ่งของมาต้อนรับพระธุดงค์
เจ้าหน้าที่เตรียมดอกกุหลาบไว้ให้เพื่ออำนวยความสะดวก
ชาวกรุงบางคนเพิ่งจะเห็นว่ากำลังมีพระธุดงค์เดินผ่าน จึงไม่ทันได้เตรียมดอกกุหลาบหรือของอย่างอื่นมาเพื่อต้อนรับ แต่มีศรัทธาที่จะต้อนรับพระธุดงค์  จึงได้มานั่งประนมมือต้อนรับ เมื่อเจ้าหน้าที่เห็นเช่นนี้จึงนำดอกกุหลาบทีได้จัดเตรียมไว้ นำไปมอบให้ทำให้ชาวกรุงได้โปรยดอกกุหลาบต้อนรับพระธุดงค์อย่างทั่วหน้าและอย่างเบิกบาน
คณะผู้จัดงานตั้งใจจะทำทางกุหลาบเพื่อต้อนรับพระธุดงค์ บูชาบุคคลที่ควรบูชาทุกย่างก้าวจนถึงวัดปากน้ำ เพื่อให้ชาวกรุงได้ตระหนักและระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ว่าพระธุดงค์คือใคร เหตุใดจึงต้องกระทำการบูชาให้ยิ่งใหญ่เช่นนี้ บูชาอย่างไร บูชาแล้วได้อะไร เพื่อให้ชาวพุทธได้เกิดคำถามและแสวงหาคำตอบ ได้พูดคุยสนทนากันในเรื่องที่เป็ญกุศล อันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเสริมสร้างศีลธรรมให้เกิดขึ้นแก่สังคม
การบูชาในสมัยพุทธกาล
ในสมัยพุทธกาลนั้นมีการบูชาพระรัตนตรัยที่ยิ่งใหญ่มากมาย เช่น การบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างอลังการ ดั่งเรื่องเมืองเวสาลี (http://www.dmc.tv/pages/latest_update/20111215-Super-Big-Cleaning-ในครั้งพุทธกาล.html) ที่มีการโปรยดอกหลายหลากสีหลากชนิดทำเป็นทางให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระสาวกได้ดำเนินผ่าน มีการกั้นฉัตร กั้นธง สร้างพระคันธกุฏีอย่างอลังการ 
เรื่องการบูชาพระรัตนตรัยในครั้งพุทธกาลนั้นมีเกิดขึ้นมากมาย บูชาด้วยทองคำบ้าง ด้วยรัตนชาติบ้าง ด้วยดอกไม้ ด้วยอวัยวะ ด้วยชีวิต ซึ่งผู้กระทำการบูชานั้นมีความเลื่อมใสในพระรัตนตรัย จึงตั้งใจทำการบูชาอย่างวิจิตรอลังการ และเมื่อเทียบกับการบูชาต้อนรับพระธุดงค์ด้วยกลีบดอกกุหลาบนั้น ถือว่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการบูชาของชาวพุทธในครั้งพุทธกาล
ความรู้สึกของพระธุดงค์ที่เหยียบดอกกุหลาบ
พระธุดงค์ที่ท่านเดินบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ เมื่อได้เห็นการต้อนรับของญาติโยมด้วยความเคารพศรัทธาอย่างมาก ที่นำกลีบดอกกุหลาบซึ่งมีราคาแพงมีความปราณีตมาโปรยให้พระแต่ละรูปได้เดินเหยียบ พระธุดงค์จะเกิดความรู้สึกว่า เหตุใดญาติโยมจึงได้นำดอกกุหลาบมีราคาแพงเช่นนี้มาต้อนรับเรา เรามีข้อวัตรปฏิบัติถูกต้องดีงามหรือยัง พระธรรมวินัยเรารักษาดีแล้วหรือยัง สมณธรรมเราบำเพ็ญดีแล้วหรือยัง เรามีคุณธรรมคุณวิเศษเพียงพอเป็นเนื้อนาบุญให้ญาติโยมได้แล้วหรือยัง ถ้ายังเราจะต้องฝึกฝนตนเองข้อใดให้ยิ่งๆขึ้นไปอีก เมื่อเกิดคำถามเช่นนี้ขึ้นในใจ ทำให้พระธุดงค์เกิดความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะบำเพ็ญสมณธรรมของตนให้ยิ่งๆ ขึ้นไป
พระธุดงค์บางรูปได้เห็นญาติโยมมาต้อนรับอย่างอลังการเช่นนี้ทำให้เกิดความรู้สึกว่า อยากจะบวชต่อไป ไม่อยากลาสิกขา อยากเป็นเนื้อนาบุญให้ญาติโยม อยากบำเพ็ญสมณธรรม บางรูปถึงกับตั้งใจบวชตลอดชีวิตก็มี การที่พระภิกษุเกิดความคิดเช่นนี้การลาสิกขาก็จะน้อยลง พระก็จะบวชศึกษาพระธรรมวินัยเพิ่มมากขึ้น  นี้มีแต่จะเป็นผลดีต่อพระพุทธศาสนา 
พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรือง
เมื่อญาติโยมมาต้อนรับพระธุดงค์มาเป็นกำลังใจให้พระธุงดค์ และพระธุดงค์ก็ตั้งใจบวชตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรมตั้งใจเป็นเนื้อนาบุญและเป็นกำลังใจให้ญาติโยมเช่นนี้แล้ว ทั้งพุทธบริษัทสี่ต่างเป็นกำลังใจให้กันและกัน ญาติโยมก็มีกำลังใจอุปัฏฐากดูแลพระ พระก็มีกำลังใจปฏิบัติธรรม บำรุงศาสนาสถาน เผยแผ่พุทธธรรมเช่นนี้แล้ว พระพุทธศาสนามีแต่จะเจริญรุ่งเรือง ไม่มีคำว่าเสื่อมถอยลงเลย 
การเห็นสมณะถือว่าเป็นมงคล
พระสงฆ์ถือได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ของศีลธรรมความดีงาม เมื่อพระธุดงค์ธรรมชัยผ่านหน้าบ้าน ชาวบ้านที่กำลังทำบาปอกุศล เช่น ตั้งวงดื่มสุรา เล่นไพ่ เมื่อเห็นพระก็เกิดความละอายต่อบาป หยุดทำบาปไปชั่วคราว ต่างเกิดบทสนทนาอันเป็นกุศล ซักถามว่า พระท่านมาจากไหน ท่านจะไปไหน พระท่านมากี่รูป เป็นต้น ก็ชวนให้หาคำตอบ และได้มีโอกาสละชั่วรักษาศีลและสั่งสมบุญใหญ่กับพระธุดงค์ การที่พระธุดงค์เดินผ่านจึงชื่อว่าเห็นสมณะ เป็นมงคลอันสูงสุดโดยแท้ 
พระเหยียบดอกกุหลาบไม่ถือเป็นการลบหลู่พระรัตนตรัย
ดอกกุหลาบถือเป็นดอกไม้กลางๆ เป็นดอกไม้ที่แสดงถึงความรัก มีการใช้ดอกกุหลาบในหลายลักษณะ เช่น งานแต่งงาน ชายหนุ่มมอบให้หญิงสาว บางที่นำดอกกุหลาบโปรยให้สุนัขตัวผู้เมียที่แต่งงานกันเดินเพื่อไปผสมพันธุ์กัน บ้างก็นำไปประดับตกแต่งให้สวยงาม ดอกกุหลาบมีใช้กันอย่างแพร่หลายขึ้นอยู่กับการใช้งาน จึงไม่ถือว่าเป็นการลบหลู่พระรัตนตรัยแต่อย่างใด

ชี้แจงประเด็นการเดินธุดงค์ไม่มีสัญลักษณ์ของพระพุทธเจ้า
การเดินธุดงค์ธรรมชัยครั้งนี้เพื่ออัญเชิญหลวงปู่ทองคำไปประดิษฐานที่วัดปากน้ำ จึงนำรูปเหมือนทองคำหลวงปู่ฯนำหน้าแถวพระธุดงค์ 
พระธุดงค์จัดเป็นพระสงฆ์เป็นหนึ่งในพระรัตนตรัย นี้ก็ถือว่าเป็นตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่แล้ว การจะกล่าวว่า "ไม่มีอะไรสื่อถึงพระพุทธองค์เลย หรือไม่มีพระพุทธรูปนำหน้า" ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกจากการธุดงค์ทั่วไปแต่อย่างใด เพราะก็ไม่มีการธุดงค์ใดนำพระพุทธรูปไว้นำหน้าแถวพระธุดงค์หน้าเช่นกัน
ชี้แจงธุดงควัตรข้ออยู่ในเสนาสนะที่เขาจัดให้
ในการถือธุดงควัตรข้อ ยถาสันถติกังคะ พระธุดงค์จำนวน 1,500 รูปมาอยู่รวมกัน การจะจัดเตรียมสถานที่ให้มีความสะดวกสบายในทุกด้านนั้นคงเป็นไปได้ยาก จะเตรียมได้ก็เท่าที่พอจะพักอาศัยได้เท่านั้น
ที่จำวัตร(ที่นอน)ของพระธุดงค์ เป็นสนามกีฬาหรือลานโล่ง และให้พระธุดงค์แต่ละรูปกางกลดจำวัตร เป็นการลดภาระเจ้าหน้าที่ที่ต้องเตรียมที่หลับที่นอน ไม่ได้มีห้องแอร์ เตียง ฟูกนอนอย่างสะดวกสบายแต่อย่างใด
ห้องสรงน้ำ(อาบน้ำ)ของพระธุดงค์ ใช้การบังด้วยซันแลนทึบล้อมเป็นบริเวณ และใช้ถังน้ำขนาดใหญ่ให้พระธุดงค์ตักอาบ ไม่ได้มีฝักบัว ไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่น พระธุดงค์ทุกรูปต้องรู้จักประมาณในการใช้น้ำเพราะน้ำมีจำกัด หากใช้น้ำมากไปก็ไม่เพียงพอ ใช้น้ำน้อยไปก็ไม่สะอาด การซักผัาจีวรก็ใช้ถังรวมในการซักเพื่อประหยัดน้ำ(ดังรูป)
ห้องขับถ่าย(ห้องสุขา)ของพระธุดงค์ ใช้ตามแต่สถานที่ที่พักค้างจะมีให้ เช่น โรงเรียนก็จะมีห้องน้ำพอดีๆกับพระจำนวน 1,500 รูป
ที่ฉันภัตตาหาร(ห้องอาหาร)ของพระธุดงค์ เมื่อพระท่านตื่นจากจำวัตรก็ต้องเก็บกลดเพื่อให้มีพื้นที่โล่งสำหรับฉันภัตตาหาร นั่นก็คือนั่งฉันตรงสนามกีฬานั่นเอง
ห้องสวดมนต์ทำวัตรนั่งสมาธิ ก็เป็นที่เดียวกันกับที่จำวัตร ทั้งที่นั่งสมาธิ ที่ฉันภัตตาหาร ที่จำวัตรเป็นที่เดียวกัน เพราะการจะจัดเตรียมสถานที่ใหญ่โตเพื่อรองรับพระจำนวน 1,500 รูปนั้นทำได้ยาก
จะเห็นได้ว่า การพักในที่ที่เขาจัดไว้ให้ของพระธุดงค์นั้นเรียบง่ายไม่ได้มีความหรูหร่าฟุ่มเฟือยแต่อย่างใด
ชี้แจงเรื่องการแบกกลด
จากประเด็นว่า "พระธุดงค์ธรรมชัยในเมื่อไม่ได้ถืออัพโภกาสิกธุดงค์(ถืออยู่กลางแจ้ง) ด้วยแล้ว กลดก็ยิ่งไม่จำเป็นแต่อย่างใดเลย"
การถือธุดงค์ข้ออัพโภกาสิกธุดงค์นั้น คือการอยู่กลางแจ้ง การถือธุดงค์ข้อนี้จำเป็นต้องอยู่กลางแจ้งตลอดเวลา คือต้องปักกลดบริเวณนอกเงาบังทั้งหลาย ถึงแม้พระธุดงค์ธรรมชัยจะไม่ได้ถือธุดงควัตรข้อนี้ แต่การจะไม่ให้พระธุดงค์นำกลดไปและเจ้าหน้าที่จัดสถานที่พักให้พระจำนวน 1,500 รูปอยู่ใต้ชายคานั้นคงเป็นไปได้ยาก จะหาที่พักได้ก็เพียงแต่ลานโล่ง เช่น สนามกีฬา ลานอเนกประสงค์ตามโรงเรียน เป็นต้น 
เพื่อป้องกันยุงและสัตว์ร้ายต่างๆ ป้องกันค้าง ป้องกันกิริยาอันไม่เรียบร้อยอันเกิดจากการหลับนอน เพื่อลดภาระของเจ้าของสถานที่ที่จะต้องจัดเตรียมที่มุงบังให้พระถึง 1,500  รูป และเพื่อความเป็นส่วนตัวของพระธุดงค์แต่ละรูปในการบำเพ็ญสมณธรรม พระธุดงค์แต่ละรูปจึงจำเป็นต้องมีกลดประจำตัว ทำให้เจ้าของสถานที่ไม่ต้องลำบาก พระแต่ละรูปดูแลรักษากลดของตนเอง ทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการเดินธุดงค์ของพระจำนวนมากๆ
การที่พระธุดงค์แต่ละรูปสามารถดูแลของใช้ส่วนตัวได้เอง ทำให้พระท่านต้องรู้จักประมาณว่า อะไรจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตบ้าง เพราะของที่ไม่จำเป็นหากนำไปเดินธุดงค์ด้วยแล้วก็จะทำให้หนักเป็นภาระต่อการบำเพ็ญธุดงควัตร
การเดินธุดงค์ธรรมชัยที่ผ่านมาได้รับคำชื่นชมจากเจ้าของสถานที่ในทุกที่ว่า ก่อนพระธุดงค์มาอยู่เรียบร้อยอย่างไร เมื่อพระเข้าพักและจากไปแล้ว สะอาดเรียบร้อยเหมือนไม่เคยมีใครมาพักเลย ทั้งนี้ก็เป็นเพราะการที่พระธุดงค์แต่ละรูปสามารถดูแลของใช้ตนเองไม่ให้เป็นภาระต่อเจ้าของสถานที่ ช่วยกันดูแลรักษาความสะอาด ก่อนออกจากพื้นที่ก็มีการเก็บขยะทุกชิ้นไม่ให้เหลือ ทำความสะอาดสถานที่และจากไปเหลือความสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อยไว้ให้กับสถานที่นั้นๆ
ธุดงค์ธรรชัยเกิดจากศรัทธาชาวพุทธ
ชี้แจงประเด็นแจกเหรียญ
เรื่องการแจกเหรียญพระหลวงปู่ไว้เป็นที่ระลึกก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ถือว่าเป็นการจัดตั้งบังคับให้มาทำบุญแต่อย่างใด "ถือเป็นการเชิญชวนด้วยกุสโลบายเพื่อให้ผู้ที่มีศรัทธาได้มาต้อนรับพระ แม้ผู้ไม่มีศรัทธามาเพื่อรับเหรียญอันเป็นมงคลก็จะได้มีโอกาสสั่งสมบุญต้อนรับพระธุดงค์ด้วย" ดังมีเรื่องปรากฏในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี 
กุฏุมพี(ผู้มีทรัพย์มาก) ชื่อว่า อปราชิต ก็ได้สร้างพระคันธกุฎี แล้วนิมนต์พระศาสดาประทับและแสดงธรรม โดยตั้งใจอยากจะให้มหาชนได้มาฟังธรรมด้วย จึงได้นำรัตนะ 7 ประการโปรยไว้ที่หน้าพระคันธกุฏี  เพื่อเป็นกุสโลบายให้มหาชนมาฟังธรรม เมื่อจบพระธรรมเทศนาใครปราถนารัตนชาติใดก็สามารถหยิบกลับไปได้ตามใจชอบ ด้วยความคิดว่า มหาชนที่ไม่มีศรัทธาจะมาฟังธรรมเพราะความโลภในทรัพย์ก็จะได้พ้นทุกข์ได้
  "รัตนะ ๗ ประการอันเรา(อปราชิตกุฏุมพี)โปรยลงแล้วที่บริเวณพระคันธกุฎี, มนุษย์เข็ญใจทั้งหลายผู้ฟังธรรมในสำนักพระศาสดาแล้วไป จงถือเอาเต็มมือทั้งสอง, มนุษย์ทั้งหลายที่ถึงสุขแล้วก็จงถือเอาด้วยมือเดียว. "ได้ยินว่า เขา(อปราชิตกุฏุมพี)ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า "ชนทั้งหลายผู้มีศรัทธาประสงค์จะฟังธรรมก่อนจึงจักไปทีเดียว, ส่วนผู้ไม่มีศรัทธาไปด้วยความโลภในทรัพย์ ฟังธรรมแล้ว ก็จักพ้นจากทุกข์ได้;"  เพราะเหตุนั้น เขาจึงให้บอกอย่างนั้นเพื่อต้องการจะสงเคราะห์ชน. มหาชนถือเอารัตนะทั้งหลายตามกำหนดที่เขาบอกแล้วนั่นแล.  
*มก. พระโชติกเถระ เล่ม ๔๓ หน้า ๕๒๖ 
กุฏุมพีได้นำรัตนะ 7 ประการมาเป็นกุสโลบายให้คนได้มาฟังธรรม แต่การแจกเหรียญหลวงปู่รุ่นอัญเชิญธุดงค์ธรรมชัยนั้น เหตุผลหนึ่งก็เพื่ออยากให้ผู้ที่ยังมีศรัทธาไม่เต็มเปี่ยมได้มาสั่งสมบุญกับพระธุดงค์ และเหตุผลสำคัญคือ เหรียญที่แจกเป็นเหรียญพระมงคลเทพมุนี สามารถนำกลับไปกราบไหว้บูชาต่อได้ ไว้ระลึกนึกถึงบุญที่ได้มาต้อนรับพระธุดงค์ และติดตัวไว้ระลึกเป็นสังฆานุสติเป็นการเจริญกรรมฐานต่อได้อีก  การแจกเหรียญจึงไม่ใช่เรื่องแปลกไม่ใช่การจัดตั้งแต่อย่างใด ถือเป็นกุสโลบายที่ดี ที่จะให้ชาวพุทธตื่นตัวออกมาทำความดีกันอย่างมากมาย 
ชี้แจงเรื่องเมืองเวสาลี
วัดปากน้ำประสบอุทกภัย
จากประเด็นที่ว่า "ไม่ทราบว่าวัดปากน้ำมีภัยพิบัติ มีทุพภิกขภัยอะไรหรือ??  มันเหมือนกันอย่างไรกับกรณีพระพุทธองค์เสด็จไปโปรดชาวกรุงเวสาลี"
ในช่วงน้ำท่วมเมื่อเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2554  ที่ผ่านมา วัดปากน้ำก็เป็นวัดหนึ่งที่ประสบภัยน้ำท่วม โดยน้ำได้ท่วมเข้ามาในวัดปากน้ำ ทางวัดพระธรรมกายได้ช่วยกันรับบุญขนกระสอบทรายไปทำทำนบกั้นน้ำไว้จนสามารถป้องกันไม่ให้น้ำท่วมวัดปากน้ำได้สำเร็จ (http://www.dmc.tv/pages/ข่าวพระพุทธศาสนา/ประมวลภาพภารกิจพิเศษป้องกันน้ำท่วม-วัดปากน้ำ-ภาษีเจริญ.html)
ในเส้นทางที่พระเดินธุดงค์ไปมีเส้นทางที่ประสบภัยน้ำท่วมอยู่ด้วย เช่น พหลโยธิน สะพานใหม่ ม.เกษตร เป็นต้น พระท่านเดินธุดงค์เพื่ออัญเชิญรูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนีไปประดิษฐานไว้ที่วัดปากน้ำ ผ่านเส้นทางที่ประสบอุทกภัยเป็นการสร้างขวัญกำลังใจกับผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วม เสริมสร้างศีลธรรมนำสิริมงคลมาสู่ชาวกรุงเทพโดยแท้
ชี้แจงประเด็นการเดินธุดงค์ธรรมชัยไม่มีใครได้บรรลุธรรมเหมือนที่เมืองเวสาลี
การเดินธุดงค์ธรรมชัยครั้งนี้มีชาวกรุงหลายท่านกล่าวว่า โชคดีจริงๆ วันนี้พระมาโปรด, การที่พระเดินธุดงค์ผ่านหน้าบ้าน ย่อมเกิดประโยชน์ต่อผู้ได้พบเห็น เป็นเหตุให้เกิดการสร้างบุญกุศล ทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา แม้จะยังไม่มีผู้ใดได้บรรลุธรรม แต่ก็เกิดประโยชน์ภาพรวมต่อพระพุทธศาสนา ประชาชน และประเทศชาติดังที่ได้อธิบายมา
ธุดงค์ธรรมชัยเกิดจากศรัทธาชาวพุทธทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน
ธุดงค์ธรรชัยนั้นได้รับความร่วมมืออย่างเต็มใจจากหน่วยงานคณะจัดงานทั้งภาครัฐและเอกชนมากมาย เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี, กรุงเทพมหานคร, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, องค์การยุวพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก, สหพันธ์รวมใจไทยทั้งชาติ เป็นต้น ทั้งนี้เพราะทางผู้จัดงานได้เชิญชวนหน่วยงานต่างๆ ชี้ให้เห็นถึงบุญกุศลและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการธุดงค์ธรรมชัยต่อพระพุทธศาสนาและประเทศไทย ทำให้หน่วยงานต่างๆเกิดความเข้าใจ ศรัทธา และสนับสนุนโครงการธุดงค์ธรรมชัยอย่างเต็มใจ 
ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วหน่วยงานต่างๆ จะปฏิเสธคำเชิญชวนของคณะจัดงานก็ได้ ทางคณะจัดงานไม่สามารถบังคับหน่วยงานใดๆได้ แต่จากผลตอบรับจากหน่วนงานต่างๆ ทางคณะจัดงานกลับได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีเสมอมา นี้ชี้ให้เห็นว่า ธุดงค์ธรรมชัยเกิดจากศรัทธาชาวพุทธอย่างแท้จริง ไม่ใช่การจัดตั้งแต่อย่างใด
ชี้แจงกรณีสุภัททภิกษุ
จากประเด็นที่ยกเปรียบเทียบ “พระสุภัททะสั่งลูกให้เตรียมภัตรต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและทรงติเตียน กับการที่พระภิกษุเจ้าหน้าที่ชักชวนญาติโยมมาต้อนรับพระธุดงค์และโปรยกุหลาบ”
สุภัททภิกษุได้สั่งบังคับให้ลูกชายตัวน้อย 2 คน ไปทำการรับจ้างตัดผม โดยให้นำเครื่องตัดผมของตัวเองซึ่งเป็นภิกษุอยู่ไปทำการรับจ้างตัดผมทุกบ้าน ใครไม่อยากตัดผมพอเห็นเด็กน้อยก็ต้องยอมตัด ใครที่ตัดแล้วเห็นเด็กน้อยก็ต้องตัดอีก และได้มอบเงิน สิ่งของสำหรับทำยาคูมากมาย สั่งให้พ่อครัวทำเป็นข้าวยาคูถวายพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ทรงทราบและติเตียนแล้วบัญญัติพระวินัย 2 ข้อ
"บรรพชิตไม่พึงชักจูงทายกในสิ่งอันไม่ควร รูปใดชักจูง ต้องอาบัติทุกกฏ.
อนึ่ง ภิกษุผู้เคยเป็นช่างกัลบก ไม่พึงเก็บรักษาเครื่องตัดโกนผมไว้สำหรับตัว รูปใดเก็บรักษาไว้ ต้องอาบัติทุกกฏ"
ที่ทรงติเตียนและบัญญัติพระวินัยนี้เพราะ สุภัททภิกษุได้ใช้ที่เครื่องตัดผมของสงฆ์สั่งให้ลูกๆไปทำมาหากินแบบชาวโลก แกมบังคับญาติโยมเข้าทุกบ้าน เขาไม่อยากทำก็จำใจต้องทำ อย่างนี้เรียกอกัปปิยะคือ แสวงหาในสิ่งที่ไม่ควร
แต่การชักชวนญาติโยมออกมาทำความดีจริงๆ แล้วแม้จะเป็นพระภิกษุก็สามารถทำได้ ดังเรื่องที่ปรากฎในพระไตรปิฎกใสสมัยพุทธกาลมากมาย
  เช่น ในเรื่องชฎิลเศรษฐีพระอรหันต์รูปหนึ่งทราบว่าทองทางด้านทิศเหนือของพระเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่กำลังก่อสร้างยังขาดอยู่ จึงได้ไปชักชวนนายช่างทองให้มาเอาบุญนี้  (*พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่มที่ 43 หน้าที่ 401) ฯลฯ และมีเรื่องราวอื่นๆ ที่พระภิกษุเป็นผู้ชักชวนให้ญาติโยมออกมาทำความดีกันอย่างมากมาย นี้จึงเรียกว่าเป็น กัปปิยะ คือเป็นการชักชวนที่ควรแล้ว
โครงการธุดงค์ธรรมชัยนี้ แม้เป็นพระภิกษุเองจะออกมาชักชวนญาติโยมทำความดี ชวนมาโปรยกุหลาบต้อนรับพระธุดงค์ก็สามารถทำได้ถือเป็นสิ่งที่ถูกที่ควร (ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับสุภัททภิกษุที่ใช้ของสงฆ์แสวงหาทรัพย์อย่างชาวโลก) พระที่ชักชวนญาติโยมก็ชี้ให้เห็นถึงบุญกุศลและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อญาติโญมเองต่อพระศาสนาและต่อประเทศชาติ จึงได้ชวนญาติโยมทำความดี ชวนมาอุปัฏฐากพระธุดงค์ ชวนมาสวดมนต์นั่งสมาธิกับพระธุดงค์ ใครไม่สะดวกจะมาร่วมกิจกรรมก็ไม่เป็นไร ไม่ได้บังคับแต่อย่างใด นี้เรียกได้ว่า เป็นการทำหน้าที่กัลยาณมิตร ชักชวนในสิ่งที่ถูกที่ควรแล้ว
การเดินธุดงค์ธรรมชัยจึงไม่ใช่การจัดตั้งบังคับศรัทธาชาวพุทธแต่อย่างใด แต่เกิดจากความเข้าใจตระหนักถึงความสำคัญของการต้อนรับ การบูชา การแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัย เข้าใจถึงการสั่งสมบุญ การรักษาวัฒนธรรมที่ดีงามของชาวพุทธ เข้าใจถึงประโยชน์ที่จะเกิดต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติ การธุดงค์ธรรมชัยจึงชื่อว่า เกิดจากศรัทธาชาวพุทธอย่างแท้จริง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น